เที่ยวอิ่มบุญกับ 3 วัดเก่าคู่แผ่นดินล้านนาในเมืองพะเยา

พะเยา

ช่วงนี้ใครมีโอกาสขึ้นเหนือ แล้วเบื่อๆกับบรรยากาศบนดอย ไม่รู้จะไปเที่ยวไหนดีเราแนะนำให้แวะมาส่องความงดงามอ่อนช้อยของวัดเก่าๆสไตล์ล้านนาในจังหวัดพะเยา ซึ่งเราได้ทำการคัดสรรวัดที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองมาฝากนักท่องเที่ยวทุกท่าน เพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการเดินทาง และวัดแต่ละแห่งในการแนะนำของเรานั้น บอกเลยไม่ธรรมดามีนักท่องเที่ยวหลายคน ไปเที่ยวชมแล้วต้องกลับมาอีก เพราะหลงใหลในความงดงามแบบศิลปะล้านนาเก่าแก่ ที่ชาวพะเยาได้เก็บรักษาไว้คู่แผ่นดินล้านนามาแสนนาน

วัดศรีโคมคำ

หรือวัดพระเจ้าตนหลวง เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองพะเยามาเนิ่นนาน ตั้งอยู่ใน ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา ริมกว๊านอันกว้างใหญ่ สร้างในปี พ.ศ. 2067 สมัยพระเมืองตู้เป็นเจ้าเมืองพะเยา มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี

เครดิตภาพ: kwanchai / Shutterstock.com

ความโด่งดังของวัดศรีคำโคมที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวคือ องค์พระเจ้าตนหลวงที่เก่าแก่และองค์ใหญ่ที่สุดในแผ่นดินล้านนา เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยในศิลปะเชียงแสน หน้าตักกว้าง 14X16 เมตร สร้างในปี พ.ศ. 2034 – 2067 สมัยพระเมืองยี่ครองเมืองพะเยา เป็นพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงที่งดงาม จากงานสร้างของครูบาเจ้าศรีวิชัย จังหวัดลำพูน

เครดิตภาพ: kwanchai / Shutterstock.com

นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถกลางน้ำ ที่สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาจากประชาชน เป็นศิลปะล้านนาประยุกต์ สวยเด่นอยู่ริมกว๊านพะเยา

วัดติโลกอาราม

หรือวัดกลางน้ำ เป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา มีลักษณะเป็นสันดิน หรือเกาะขนาดเล็กกลางกว๊านพะเยา บนเกาะประดิษฐานพระพุทธรูปศิลา และยอดเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐดินเผาเท่านั้น ไม่มีสิ่งอื่นใดดังวัดทั่วไป วัดกลางน้ำมีความมีความเป็นมาที่น่าใจคือ เดิมมีเพียงยอดเจดีย์ที่โผล่ขึ้นมากลางน้ำ เท่านั้น

เมื่อปีพ.ศ. 2550 ได้มีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้ค้นพบแผ่นหินทรายที่จารึกด้วยอักษรฝักขาม จากการพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญทำให้รู้ว่า วัดแห่งนี้มีอายุกว่า 500 ปี สร้างราวปี พ.ศ. 2019 – 2029  ซึ่งเจ้าเมืองพะเยาได้สร้างขึ้นถวายพระเจ้าติโลกราช ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติในฐานะกษัตริย์แห่งล้านนา แต่ต้องจมอยู่ใต้น้ำพร้อมกับชุมชนโบราณและวัดอื่นๆ ในปี พ.ศ. 2482 เนื่องจากกรมประมงสร้างประตูกั้นน้ำในกว๊านพะเยาเพื่อกักเก็บน้ำ

ส่วนพระพุทธรูปศิลาถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2526 ใต้กว๊านพะเยา เป็นพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย ในศิลปะสกุลช่างพะเยาหน้าตักกว้าง 105 เมตร ภายหลังการค้นพบได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัด ศรีอุโมงค์คำ และอัญเชิญกลับมาที่วัดติโลกอารามในปี พ.ศ. 2550 ภายหลังการบูรณะพื้นที่ ปัจจุบัน (มิถุนายน 2563 )

วัดติโลกอารามเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่อันซีนในพะเยา มีประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำ ที่ผู้มาเวียนเทียนต้องนั่งบนเรือแจวเพื่อเวียนเทียนรอบลานอิฐ ซึ่งเป็นความอันซีนหนึ่งเดียวในพะเยา

วัดพระธาตุจอมทอง

เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นศาสนสถานที่เก่าแก่และสวยงามอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา ตั้งอยู่บนเนินเขาจอมทอง ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา ไม่ไกลจากวัดศรีคำโคมและวัดติโลกอาราม เหมาะแก่การจัดให้เป็นโปรแกรมเดียวกัน

ความสวยงามของวัดพระธาตุจอมทองคือ องค์เจดีย์ทรงล้านนาสูง 30 เมตร งดงามด้วยฐาน 3 ชั้นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้าง 9 เมตร บุด้วยแผ่นโลหะ ดุนลายรูป 12 นักษัตรและลายไทยบริเวณด้านข้าง ปลายเจดีย์เป็นยอดฉัตรสีทอง เหลืองอร่ามตระการตาอยู่ภายในวัด ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าพระธาตุองค์นี้สร้างในสมัยใด

แต่มีเรื่องราวเล่าต่อกันมาว่า เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกผู้ซึ่งได้รับมอบพระเกศาธาตุจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสด็จมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาและทรงประทับแรมบนดอยจอมทอง โดยมีนายช่างทองเป็นผู้ถวายภัตตาหารแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้าอโศกจึงได้มอบพระเกศาธาตุให้แก่นายช่างทอง นายช่างทองจึงได้นำไปฝังลงในบ่อลึก 70 เมตร แล้วสร้างเจดีย์พรางไว้

ภายหลังได้รับการบูรณะจาก 3 นักบุญล้านนาคือ ครูบาศรีวิชัย ครูบาแก้ว และครูบาปัญญา

 


ค้นหาที่พักราคาถูก “ทั่วโลก” ได้ที่นี่ : สามารถพิมพ์ปลายทาง เป็นภาษาไทยได้




ซื้อตั๋วเดินทางราคาถูก “ทั่วโลก” ได้ที่นี่ (เลือกพาหนะเดินทางได้ทุกประเภท)
พิมพ์ต้นทาง – ปลายทาง โดยสามารถพิมพ์เป็นภาษาไทยได้

Powered by 12Go system
Booking.com