พระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

กรุงเทพมหานคร

พระบรมมหาราชวังเป็นพระราชนิเวศน์แห่งแรกในกรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในปี พ.ศ. 2325 มูลเหตุแห่งการสร้างเกิดขึ้นเนื่องจาก ทรงเห็นว่ากรุงธนบุรี มีชัยภูมิไม่เหมาะสมเพราะมีลำน้ำผ่านกลางเมือง เรียกว่าเมืองอกแตก เมืองลักษณะนี้ข้าศึกสามารถรุกรานได้ง่าย สาเหตุอีกประการหนึ่งเนื่องจาก พระราชวังกรุงธนบุรี มีวัดขนาบ 2 ด้าน คือวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ทำให้ไม่สามารถขยายพระราชวังให้ยิ่งใหญ่เหมือนพระราชวังเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาได้

พระบรมมหาราชวังเป็นพระราชนิเวศน์แห่งแรกในกรุงเทพมหานคร ราชธานีหรือเมืองหลวงใหม่ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2325

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ฝากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออก ซึ่งสถานที่แห่งนี้เดิมเป็นที่อยู่ของเหล่าบรรดาชาวจีนภายใต้การดูแลของพระยาราชาเศรษฐี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายชาวจีนเหล่านี้ไปตั้งหลักแหล่งใหม่ ณ บริเวณที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิ์ ฯ) ถึงคลองวัดสามเพ็ง (วัดสัมพันธวงศ์) ปัจจุบันคือเยาวราช โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิกรณ์และพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองในการก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง และในวันที่ 13 มิถุนายน 2325 เวลา 6 นาฬิกา 24 นาที อันเป็นมงคลฤกษ์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคจากพระราชวังกรุงธนบุรี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามายังพระบรมมหาราชวัง ทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก และเฉลิมพระราชมณเฑียรพระบรมมหาราชวังเมื่อแรกสร้างมีเนื้อที่ 132 ไร่ แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเห็นว่าเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งเป็นที่ประทับสำหรับพระมเหสี พระราชเทวี เจ้าจอมและเจ้านายฝ่ายในมีความคับแคบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเนื้อที่ด้านทิศใต้ออกไปทางถนนท้ายวัง เพิ่มขึ้นอีก 20 ไร่ 2 งาน รวมมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 152 ไร่ 2 งาน โดยแบ่งเขตออกเป็น 3 ส่วน คือ

• เขตพระราชฐานชั้นนอก
• เขตพระราชฐานชั้นกลาง
• เขตพระราชฐานชั้นใน

ล้อมด้วยกำแพงก่ออิฐถือปูนประกอบด้วยประตูและป้อมปราการ ดังนี้

ประตูชั้นนอกรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง มีทั้งหมด 12 ประตู คือ

1. ประตูวิมานเทเวศน์
2. ประตูวิเศษไชยศรี
3. ประตูมณีนพรัตน์
4. ประตูสวัสดิโสภา
5. ประตูเทวาพิทักษ์
6. ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์
7. ประตูวิจิตรบรรจง
8. ประตูอนงคารักษ์
9. ประตูพิทักษ์บวร
10. ประตูสุนทรทิศา
11. ประตูเทวาภิรมย์
12. ประตูอุดมสุดารักษ์

ป้อมปราการ มีทั้งหมด 17 ป้อม คือ

1. ป้อมอินทรรังสรรค์
2. ป้อมขันธ์เขื่อนเพชร
3. ป้อมเผด็จดัสกร
4. ป้อมสัญจรใจวิง
5. ป้อมสิงขรขันธ์
6. ป้อมขยันยิ่งยุทธ
7. ป้อมฤทธิรุทธ์โรมรัน
8. ป้อมอนันตคีรี
9. ป้อมมณีปราการ
10. ป้อมพิศาลสีมา
11. ป้อมภูผาสุทัศน์
12. ป้อมสัตตบรรพต
13. ป้อมโสฬสลีลา
14. ป้อมมหาโลหะ
15. ป้อมทัศนานิกร
16. ป้อมพรหมอำนวยศิลป์
17. ป้อมอินทร์อำนวยศร

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://www.royalgrandpalace.th


ค้นหาที่พักราคาถูก “ทั่วโลก” ได้ที่นี่ : สามารถพิมพ์ปลายทาง เป็นภาษาไทยได้




ซื้อตั๋วเดินทางราคาถูก “ทั่วโลก” ได้ที่นี่ (เลือกพาหนะเดินทางได้ทุกประเภท)
พิมพ์ต้นทาง – ปลายทาง โดยสามารถพิมพ์เป็นภาษาไทยได้

Powered by 12Go system
Booking.com