จันทบุรีกับประวัติศาสตร์ของ “ตึกแดง – คุกขี้ไก่” คนไทยควรรู้

จันทบุรี

จันทบุรีเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีทะเลสวยงาม แต่จะมีใครรู้บ้างว่า จันทบุรีนั้นก็มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นน่าติดตามไม่น้อยกว่าเมืองแห่งประวัติศาสตร์จังหวัดอื่นๆ นอกจากพงศาวดารที่ได้กล่าวถึงแล้ว ยังมีสถานที่จริงที่สำคัญอีกสองแห่งในอำเภอแหลมสิงห์ ที่ชาวฝรั่งเศสให้ไว้เป็นของที่ระลึกเพื่อย้ำเตือนจิตใจคนไทยอยู่เสมอ คือ ตึกแดงและคุกขี้ไก่ หากใครอยากรู้ อยากเห็น เหตุการณ์ในอดีตของบรรพบุรุษไทยเราตามมาดูกันค่ะ

ตึกแดง

เป็นตึกแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยในจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภอแหลมสิงห์ มีลักษณะเป็นตึกชั้นเดียว แบ่งเป็น 5 ห้อง มีระเบียงยาวทั้งสองฝั่ง และทาสีแดงทั้งหลัง เป็นตึกที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 โดยชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นยุคที่ฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลกับประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม และต้องการยึดครองพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงคือ จันทบุรีและตราด โดยอ้างว่าเป็นอาณาจักรลาวทั้งสิ้น มีการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 1.56 ล้านบาทจากไทยในขณะนั้น ในขณะที่ประเทศไทยไม่สามารถทำตามคำเรียกร้องได้

ฝรั่งเศสจึงได้ทำการยึดจันทบุรีและสร้างตึกแดงไว้เป็นกองบัญชาการทหารในพื้นที่ของป้อมพิฆาฏปัจจามิตร ซึ่งเป็นป้อมปืนเก่าแก่ของไทยในรัชกาลที่ 3 โดยรื้อถอนป้อม แล้วนำวัสดุบางส่วนมาสร้างตึกแดง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2477 ไทยสามารถจ่ายค่าเสียหายให้แก่ฝรั่งเศสได้สำเร็จ ด้วยเงินทั้งหมดในท้องพระคลังในสมัยนั้น ทำให้ฝรั่งเศสยอมถอนกำลังออกไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ตึกแดงได้รับการปรับปรุงให้เป็นห้องสมุดและศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอแหลมสิงห์ ภายหลังถูกยกเลิกและเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ภายในประกอบไปด้วย ปืนใหญ่และกระสุนที่พบใต้แม่น้ำจันทบุรี บางห้องมีป้ายความรู้บอกถึงประวัติและเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับตึกแดง

คุกขี้ไก่

เป็นคุกที่สร้างขึ้นพร้อมกันกับตึกแดง มีบทบาทที่ใช้ในเหตุการณ์เดียวกัน ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก คือ ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ คุกขี้ไก่เป็นหลักฐานยืนยันเหตุการณ์ในยุคที่เกิดการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส เป็นคุกที่ชาวฝรั่งเศสใช้กักขังคนไทยที่ต่อต้านฝรั่งเศส ซึ่งมีทั้งชาวญวน จีน และไทย มีลักษณะเป็นป้อมสี่เหลี่ยมขนาด กว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร และสูง 10 เมตร ก่อสร้างจากอิฐมอญ จนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทุกอย่างยังคงสภาพแบบเดิม เมื่อ 100 กว่าปีก่อน นอกจากหลังคาที่ปล่อยโล่งเนื่องจากหลังคาเดิมที่เป็นไม้มุงทรง พีรามิด ได้ชำรุดทรุดโทรมไปหมดแล้ว

คุกขี้ไก่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้ในการทรมานผู้ถูกคุมขัง โดยมีประตูเตี้ยๆเข้าออกทางเดียว ฝาผนังถูกเจาะเป็นช่อง หากมองจากข้างนอกจะเห็นเป็นช่องแนวตั้งยาวรอบคุกจำนวน 2 แถว แต่ภายในถูกเปลี่ยนแปลงให้มีช่องขนาดเล็กกว่าภายนอก ซึ่งเพียงพอให้แสงและอากาศเข้าไปได้ พื้นที่คับแคบนักโทษต้องอยู่อย่างแออัด อบอ้าว เนื่องจากมีช่องลมเพียงน้อยนิด

ส่วนบนสุดของคุกเป็นพื้นที่เลี้ยงไก่เพื่อให้ไก่ขี้ลงมาข้างล่าง เพื่อโดนหัวนักโทษที่อยู่ภายในที่ทั้งร้อนทั้งเหม็น อันเป็นที่มาของชื่อ คุกขี้ไก่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ไทยสามารถทำตามคำเรียกร้องของฝรั่งเศสได้ มีผลให้ชาวฝรั่งเศสถอดถอนกำลังออกจากเมืองจันทบุรี จึงเลิกใช้คุกขี้ไก่ และทิ้งไว้เป็นหลักฐานยืนยันถึงความเจ็บปวดของชาวไทยสมัยนั้น


ค้นหาที่พักราคาถูก “ทั่วโลก” ได้ที่นี่ : สามารถพิมพ์ปลายทาง เป็นภาษาไทยได้




ซื้อตั๋วเดินทางราคาถูก “ทั่วโลก” ได้ที่นี่ (เลือกพาหนะเดินทางได้ทุกประเภท)
พิมพ์ต้นทาง – ปลายทาง โดยสามารถพิมพ์เป็นภาษาไทยได้

Powered by 12Go system
Booking.com