พระราชวังสนามจันทร์ เป็นสถานที่สำคัญของจังหวัดนครปฐม ที่มีผู้คนรู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีพื้นที่อยู่ใน ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม เป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีความสวยงามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระราชวังสนามจันทร์ได้รับประกาศให้เป็น โบราณสถาน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2524 อยู่ในความดูแลของทางจังหวัดนครปฐมในปี พ.ศ. 2561 ต่อจากกระทรวงมหาดไทย และเปิดให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆภายใน ซึ่งมีความงดงามและสิ่งของสำคัญหลายอย่างที่หาชมได้ยาก ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญและงดงามน่าเที่ยวชมในพระราชวังมีดังนี้
พระที่นั่ง
พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี เป็นพระที่นั่ง 2 ชั้น โดยมีการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบฉบับของตะวันตกและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน
พระที่นั่งพิมานปฐม เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระราชวังสนามจันทร์ มีลักษณะที่คล้ายกับพระที่นั่งอภิรมย์ฤดี แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า ภายในประกอบด้วยห้องต่างๆเช่นห้องบรรทม ห้องสรง ห้องบรรณาคม ห้องพระภูษา เป็นต้น
พระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นพระที่นั่งที่อยู่ติดกับพระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมจะมีความแตกต่างจากพระที่นั่งอื่นๆ เนื่องจากเป็นอาคารทรงไทย ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงใช้พระที่นั่งนี้เป็นที่ทรงพระอักษร ที่ใช้สำหรับการทรงงานเขียนกลอนต่างๆ
พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระที่นั่งวัชรีรมยา เป็นท้องพระโรง พระองค์ใช้สำหรับการจัดเป็นที่ประชุมกองเสือป่าหรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับลูกเสือต่างๆ มีลักษณะเป็นพระที่นั่งทรงไทยแบบศาลาโถงใหญ่ชั้นเดียวที่มีความงดงามอย่างยิ่ง
พระตำหนัก
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เป็นพระตำหนักที่โดดเด่นที่สุดในหมู่พระตำหนักและพระที่นั่งในพระราชวังสนามจันทร์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามใหญ่ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2451 โดยมี หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องสีแดง ชั้นบนมีเพียง 2 ห้อง ชั้นล่างมี 2 ห้อง มีระเบียงล้อมรอบ 3 ด้านของตัวพระตำหนักทั้ง 2 ชั้น จุดเด่นของพระตำหนักองค์นี้คือสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับปราสาท ซึ่งเป็นการผสมระหว่างศิลปะเรอแนซ็องส์ของประเทศฝรั่งเศส กับอาคารแบบฮาล์ฟ ทิมเบอร์ของประเทศอังกฤษ แต่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบสมมาตร เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นห้องบันได อีกด้านหนึ่งเป็นห้องเสวยและห้องส่งเครื่อง ชั้นบนประกอบด้วยทางเดินกลางแบ่งอาคารเป็น 2 ข้าง แต่ละข้างมีห้องใหญ่เป็นห้องบรรทม และห้องเล็กเป็นห้องทรงพระอักษร ล้อมด้วยระเบียงสามด้านยกเว้นด้านหลัง ทางด้านตะวันออกและตะวันตกมีเฉลียงเป็นรูปครึ่งวงกลม ประกอบด้วยเสาขนาดใหญ่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง จุดเด่นของพระตำหนักอยู่ที่ป้อมหรือหอคอยที่มุมอาคาร ยอดหลังคาเป็นกรวยแหลม นอกจากนี้ทางเข้ากลางด้านหน้ายังทำเป็นมุขแบบชนบท ลายซุ้มหน้าบันเหนือระเบียงมีลายแบบยุคกลางของยุโรป ด้านใต้มีประตูเปิดไปสู่ฉนวนซึ่งทอดยาวไปพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
ใน พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระตำหนักว่า “พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์”[8] และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีขึ้นพระตำหนัก เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2460
แต่เดิมพระตำหนักหลังนี้ชื่อว่า “พระตำหนักเหล” ซึ่งตั้งตามนามของ ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาล
พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์
พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทอง ทาสีแดง มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกของประเทศทางตะวันตก แต่ได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบบางส่วนให้เหมาะกับภูมิอากาศแบบเมืองร้อน พระตำหนักองค์นี้สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ โดยมีฉนวนทางเดินทำเป็นสะพานจากชั้นบนด้านหลังของพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ข้ามคูน้ำเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ สะพานดังกล่าวหลังคามุงกระเบื้องและติดหน้าต่างกระจกทั้งสองด้าน ตลอดความยาวของสะพานที่เชื่อมติดต่อถึงกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักนี้ในราว พ.ศ. 2459 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ รูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกคล้ายกระท่อมไม้ในชนบททาสีแดง หลังคาทรงปั้นหยายกจั่วสูง ผังอาคารเป็นรูปไม้กางเขนแต่แขนยาวไม่เท่ากัน ภายในแบ่งออกเป็น 2 ชั้น โดยชั้นล่างด้านตะวันออกเป็นโถงใหญ่โล่งถึงชั้นบน ส่วนแกนเหนือใต้เป็นห้องโถงทางเข้าด้านหนึ่ง และห้องนอนมหาดเล็กชั้นบนมี 4 ห้อง ได้แก่ ห้องโถงทางทิศเหนือมีประตูเปิดสู่ฉนวนน้ำที่เชื่อมกับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ห้องทรงพระอักษรอยู่ทางทิศเหนือ ห้องบรรทมอยู่ทางทิศใต้มีประตูออกสู่ระเบียง และห้องสรงอยู่ด้านตะวันตกของห้องพระบรรทม
พระตำหนักทับแก้ว เป็นพระตำหนักที่มีขนาดเล็ก 2 ชั้น แต่มีการตกแต่งที่แตกต่างพระตำหนักทับขวัญคือเน้นสถาปัตยกรรมตามแบบฉบับของชาวตะวันตก ภายในมีเตาผิง หลังคาปล่องไฟ ที่ให้ความสวยงามตามการออกแบบที่ทันสมัย
พระตำหนักทับขวัญ มีลักษณะเป็นพระตำหนักที่เน้นการออกแบบตามฉบับเรือนไทยดั้งเดิม เน้นสถาปัตยกรรมศิลปะแบบไทย ภายในพระตำหนักประกอบด้วยเรือนไทย 8 หลัง และทั้ง 8 หลังนี้ สามารถเชื่อมต่อกันได้ทุกหลัง สร้างขึ้นเพื่อรักษาศิลปะเรือนไทยแบบโบราณ เป็นพระตำหนักแบบหมู่เรือนไทยเดิม ภายในมีความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่เนื่องจากบริเวณกลางชานเรือนปลูกต้นจันไว้ให้ร่มเงา
เรือน
ในพระภายราชวังสนามจันทร์มีเรือนต่างๆมากมายที่พระองค์ทรงโปรดเกล้าจัดสร้างขึ้นเป็นบ้านพักของข้าราชการติดตามพระองค์ โดยมีเรือนต่างๆเช่น
เรือนราชมนู เดิมเป็นบ้านพักของราชองครักษ์
เรือนชานเล็ก เดิมเป็นบ้านพักของข้าราชการกรมมหรสพ
เรือนพระนนทิการ เป็นเรือนไม้สักขนาดใหญ่
เรือนพระธเนศวร เป็นเรือนไม้สักชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง
เรือนทับเจริญ เป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยายกพื้นใต้ถุนสูง
เรือนพระกรรมสักขี เป็นเรือนไม้สัก โดยในปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการบูรณะเรือนแห่งนี้ใหม่ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยเรือนต่างๆอีกมากมายอาทิ เรือนพระสุรภี,เรือนพระนนทิเสน,เรือนสุภรักษ์,เรือนชาวที่,เรือนคฤหบดี,เรือนพระเอกทันต์,เรือนพระกรรติเกยะ,เรือนที่พักพระตำรวจหลวง นอกจากสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญเหล่านี้แล้ว พระราชวังสนามจันทร์ยังมีสถานที่อื่นๆ ให้เที่ยวชมอีกมากมาย สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากมาเห็นความงดงามอลังการของพระราชวังสนามจัน แนะนำให้แต่งกายสุภาพเรียบร้อยและปฏิบัติตามกฎ เพราะทางพระราชวังมีการดูแลอย่างเข้มงวด
ซื้อตั๋วเดินทางราคาถูก “ทั่วโลก” ได้ที่นี่ (เลือกพาหนะเดินทางได้ทุกประเภท)
พิมพ์ต้นทาง – ปลายทาง โดยสามารถพิมพ์เป็นภาษาไทยได้